สพฉ. เตือนพ่อแม่ระวังอุบัติเหตุในเด็ก ย้ำ อุบัติจราจร-สิ่งแปลกปลอมติดคอ
น่ากังวลสุด แนะพ่อแม่เรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ระบุหากมีสิ่งแปลกปลอมติดคอเด็กอย่าพยายามล้วงคอเด็ดขาดหวั่นหลุดเข้าหลอดลมยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น
เผยปีที่ผ่านมามีเด็กเจ็บป่วยฉุกเฉินกว่า 129,002 ครั้ง
วันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคมถูกจัดให้เป็นวันเด็กแห่งชาติ
ซึ่งในปี 2558ตรงกับวันที่ 10 มกราคม
ซึ่งหลายหน่วยงานก็ได้เตรียมจัดงานเฉลิมฉลองให้เด็กๆ ได้สนุกสนานกัน แต่ในทุกๆ
ปีนอกจากความสนุกสนานของเด็กๆ แล้ว ก็จะมีข่าวเศร้าที่เด็กๆ ได้รับอันตราย บาดเจ็บ
หรือถึงขั้นเสียชีวิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นจากการเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ
โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
ได้รวบรวมสถิติการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับเด็กในปีที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กอายุระหว่าง1-14 ปี ได้รับบาดเจ็บฉุกเฉินที่ขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669กว่า 129,002 ครั้ง โดยอาการฉุกเฉินที่น่าเป็นห่วง คือ การเจ็บป่วยฉุกเฉินจากการสำลัก
มีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ จำนวน259 ครั้ง และอุบัติเหตุ
ยานยนต์ อุบัติเหตุจราจร จำนวน 20,133ครั้ง
นพ.อนุชา
เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า อุบัติเหตุที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กเล็กมีด้วยกันหลายประเภท
แต่สิ่งที่พบเห็นได้บ่อยมากอย่างหนึ่ง และมักมีการขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน
คือ เด็กนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปากจนติดคอและหายใจไม่ออก ซึ่งเด็กในวัยนี้มักเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น
ชอบสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นอันตรายต่อร่างกาย
เมื่อเห็นวัตถุแปลกปลอม อาทิ เงินเหรียญ หรือวัตถุแปลกปลอมที่มีสีสัน ลูกปัด
เด็กมักจะหยิบเข้าปากและคิดว่ากินได้
จนทำให้วัตถุแปลกปลอมติดคอซึ่งบางรายหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นผู้ปกครองควรเก็บของให้เป็นระเบียบ
และสอนบุตรหลานว่าสิ่งใดเป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่ควรนำเข้าปาก
ทั้งนี้หากบุตรหลานของท่านมีสิ่งแปลกปลอมติดคอ ควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์
และสำรวจว่าเด็กมีสติหรือไม่ ในกรณีที่เด็กยังมีสติอยู่
ผู้ปกครองไม่ควรใช้นิ้วมือล้วงเข้าไปในปากของผู้ป่วยเพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกมา
เพราะการล้วงเข้าไปมีความเสี่ยงที่จะทำให้สิ่งแปลกปลอมตกไปในหลอดลมได้ พยายามให้ผู้ป่วยไอด้วยตัวเอง
จนสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา แต่หากสิ่งแปลกปลอมไม่หลุดออกมา
ให้ยืนด้านหลังของบุตรหลานแล้วใช้มือสอดแขนทั้งสองข้างไว้ใต้แขนของผู้ป่วย กำมือข้างที่ถนัดกดตรงกลางท้องบริเวณกึ่งกลางระหว่างกระดูกลิ้นปี่กับสะดือ
แล้วใช้มืออีกข้างจับไว้ให้แน่น จากนั้นให้ออกแรงกระตุกเข้าหาตัว พร้อมๆ
กับดันขึ้นด้านบน โดยออกแรงกระตุกให้หนักและทำเป็นจังหวะสม่ำเสมอ
วิธีนี้เป็นการบังคับอากาศที่อยู่ในปอดให้อัดกระแทกออกมาที่บริเวณหลอดลม
จะช่วยให้สิ่งแปลกปลอมหรือเศษอาหารหลุดออกมาได้ ให้ทำจนกว่าผู้ป่วยจะเริ่มสำลัก
หรือไอจนสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หรือจนกว่าผู้ป่วยจะหายใจเองได้ จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนตะแคง
เพื่อรอทีมผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์มาถึง
แต่อย่างไรก็ตาม
การช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยวิธีนี้อาจทำให้เกิดการบอบช้ำหรือบาดเจ็บที่อวัยวะภายใน
หรือสิ่งแปลกปลอมอาจจะหลุดออกมาไม่หมดและอาจตกลงไปที่ปอด
ทำให้เกิดการอุดตันหลอดลมหรือปอดติดเชื้อ ดังนั้นเมื่อปฐมพยาบาลด้วยวิธีนี้
จึงควรไปพบแพทย์ทุกครั้ง ส่วนการปฐมพยาบาลเด็กเล็กที่อายุมากกว่า 1
ปีขึ้นไป กรณีหมดสติ หลังจากโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 แล้ว
ให้ผู้ป่วยนอนลงกับพื้น หากผู้ป่วยไม่หายใจ
ให้ยกคางผู้ป่วยขึ้นให้ศีรษะแหงนไปข้างหลังให้มากที่สุด และพยายามช่วยเหลือด้วยการฟื้นคืนชีพตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า
นอกจากนี้อันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็กได้มากที่สุด คือ อุบัติเหตุจากการจราจร
ดังนั้นหากผู้ปกครองจะพาบุตรหลานออกนอกบ้าน ควรดูแลเรื่องความปลอดภัย โดยหากเด็กนั่งรถยนต์ควรให้เด็กนั่งที่เบาะหลังและคาดเข็มขัดนิรภัย หรือเด็กเล็กควรนั่งคาร์ซีท จะช่วยลดความรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุ ส่วนเด็กที่นั่งรถจักรยานยนต์ ให้เด็กสวมหมวกนิรภัยขนาดที่เหมาะสมกับเด็ก
เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะได้รับการกระแทก เพราะสิ่งที่น่ากังวลสำหรับเด็กที่ได้รับอุบัติเหตุคือการกระทบกระเทือนทางศีรษะ
เพราะเด็กอาจเสียชีวิตได้โดยง่าย หรืออาจจะพิการไปตลอดชีวิต
รวมถึงการบาดเจ็บของอวัยวะภายใน เช่น ตับและม้าม
เพราะเด็กจำนวนมากไม่สามารถร้องบอกอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้
จึงอาจทำให้เกิดภาวะของการเสียเลือดมาก ทำให้ช็อค หมดสติ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการฉุกเฉินที่ร้ายแรง
ดังนั้นหากเด็กประสบอุบัติเหตุควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือในทันที
////////////////////////////////
| วันที่ 09/01/2558 |