เลขา สพฉ.มอบเครื่อง AEDให้กับท่าอากาศยานสุราษฏร์ธานี หวังช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในสนามบิน ด้านผอ.สนามบินสุราษฏร์ธานีเผยตัวเลขผู้ใช้บริการวันละ 7 พันคน เชื่อเครื่อง AED จะช่วยทำให้ประชาชนมั่นใจในการให้บริการของสนามบินมากยิ่งขึ้น

ที่สนามบินสุราษฎร์ธานี เรืออากาศเอกนพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติในนามของมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้มอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ให้กับท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี โดยมีนายกำแหง สายวิภู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานีเป็นผู้รับมอบพร้อมกับมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเข้าร่วมในการรับมอบเครื่อง AED ในครั้งนี้ด้วย

เรืออากาศเอกนพ.อัจฉริยะกล่าวว่า เครื่อง AED ที่เรานำมามอบให้กับสนามบินสุราษฎร์ธานีในครั้งนี้นั้นก็เพื่อให้สนามบินนำไว้ใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่ต้องใช้เวลาในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งหากเราพบผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันและเราช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการทำ CPR ประกอบกับการใช้งานเครื่อง AED ควบคู่กันไปด้วยจะทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินมีมากขึ้น

ทั้งนี้ในสมัยก่อนนั้นเครื่อง AED จะสามารถใช้งานได้เฉพาะในโรงพยาบาล และมีเพียงแพทย์และพยาบาลเท่านั้นที่จะสามารถใช้เครื่อง AED ได้แต่ตอนนี้คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้ออกประกาศให้เครื่องAEDเป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่ประชาชนก็สามารถใช้ได้ มั่นใจว่า ในอนาคตเราจะมีเครื่อง AED มากขึ้นอย่าแน่นอน ซึ่งในปัจจุบันเครื่องAED จะถูกกระจายติดตั้งไว้ในสถานที่ที่สำคัญๆ อาทิ สนามบิน สวนสาธารณะ โดยวิธีการใช้งานของเครื่อง AED การใช้งานนั้นไม่ยุ่งยาก เพราะเมื่อเราเปิดเครื่องก็จะมีคำแนะนำเราอย่างชัดเจนว่าเราจะต้องใช้งานเครื่อง AED 

อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ชิ้นนี้จะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเสริมการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่สิ่งแรกที่เราะจะต้องทำเมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉินตนอยากให้โทร 1669 เป็นอันดับแรกเพราะเจ้าหน้าที่จะสามารถให้คำแนะนำและจัดส่งรถหรือหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินมาทำการช่วยเหลือผู้ป่วยในตรงจุดนั้นได้

 “เครื่อง AED นั้นผมอยากใช้ศัพท์ว่าคล้ายกับยาดม ยาหม่อง ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ถึงแม้เครื่องนี้จะเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง แต่ถ้าประชาชน ได้รับการอบรมในการใช้เครื่องนี้ ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้ เพราะเครื่องนี้ถูกออกแบบให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย แต่หากประชาชนที่ไม่ได้รับการอบรมในการใช้เครื่อง เมื่อพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินก็สามารถโทรไปได้ที่สายด่วน 1669 โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการใช้เครื่องนี้ได้”เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว

ด้านนายกำแหง สายวิภู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ที่สนามบินสุราษฎร์ธานีของเรามีผู้มาใช้บริการทั้งสิ้นเฉลี่ยแล้ววันละ7,000 คน หรือคิดเป็น 2 ล้านคนต่อปี ซึ่งถือเป็นสัดส่วนของผู้ใช้บริการในสนามบินที่ค่อนข้างมาก เราจึงได้เร่งพัฒนาระบบการให้บริการให้รองรับประชาชนทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้บริการที่นี่ ซึ่งระบบการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสนามบินก็เป็นเรื่องที่เราได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจังหวัดเพื่อช่วยกันพัฒนาให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น  ซึ่งการที่เราได้รับมอบเครื่อง AED จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ  เพราะหลังจากทำการรับมอบแล้วตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะเข้าร่วมอบรมการใช้งานเครื่อง AED ให้กับเจ้าหน้าที่ของเราด้วย ต่อไปนี้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาใช้บริการที่ท่าอากาศยานของเราหากเจ็บป่วยฉุกเฉินจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก็จะมีโอกาสรอดชีวิตมากยิ่งขึ้น จึงขอขอบคุณสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มอบเครื่อง AED ให้กับสนามบินของพวกเราด้วย